Crafting Creativity กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ
คัดลอกบทความมาจาก IAMEVERYTHING
คัดลอกมาจาก IAMEVERYTHING
ปอม ขวัญชัย อัครธรรมกุล ดีไซน์ไดเร็กเตอร์ และผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Craftsmanship (คราฟส์แมนชิพ) ในปี 2009 โดยขวัญชัยมีความสนใจในงานออกแบบและเทคโนโลยี ทำให้เกิดการทำงานสื่อสารที่ผสานสื่อผสมหลากรูปแบบ จนถึงงานออกแบบตัวอักษร อินเตอร์แอคทีฟ อินสตอลเลชั่น และงานพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ในปี 2017 แบบอักษรของ Deltatype ภายใต้ Craftsmanship และ MartiniThai Neue Slab ได้รับรางวัล Design Excellence Award 2017 (ประเทศไทย) และ G Mark Award 2017 (ประเทศญี่ปุ่น) ด้วยความสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวทำให้เขานำพา Craftsmanship สู่การหามุมมองที่แตกต่าง และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบที่มีความแปลกใหม่ได้อยู่เสมอ
คือส่วนผสมของอาร์ต คราฟท์ และเทคโนโลยีที่อยู่ในตัวตนของ “Craftsmanship” (คราฟส์แมนชิพ) สำนักออกแบบผู้เป็นทั้งนักเล่าเรื่อง นักพัฒนา ศิลปิน และทุกสิ่งทุกอย่างที่คาบเกี่ยวระหว่างนั้น ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ผลงานของพวกเขามีตั้งแต่กราฟิกดีไซน์ แบรนด์ดิ้ง ฟอนต์ เว็บดีไซน์ โมชั่นกราฟิก อีเวนต์ อินสตอลเลชั่น จนถึงเป็นผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์อินเตอร์แอคทีฟ ร่องรอยความหลงใหลส่วนหนึ่งของชาว Craftsmanship อาจพอมองเห็นได้ในเวิร์คสเปซของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นภาพตัวอักษรแบบ Digital Fabrication วางอยู่ตามมุมโต๊ะ ตัวหนังสือหลากฟอนต์ที่แปะบนผนังอยู่เคียงข้างภาพโปสเตอร์ของศิลปินวงเกาหลีคนหนึ่ง บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่กำลังโค้ดดิ้งซอฟต์แวร์บางอย่าง เหล่านี้อาจบ่งบอกถึงสิ่งที่เป็นอดีต และปัจจุบัน แต่สำหรับอนาคตในทศวรรษต่อไปของ Craftsmanship นั้น คุณ ปอม-ขวัญชัย อัครธรรมกุล Co-Founder และ Design Director แห่ง Craftsmanship จะเป็นผู้บอกเล่าถึง What’s Next ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแผนการ ไม่ใช่แค่การคาดการณ์
“Design Service is Tailored”
“เราเป็น Design Consultancy ที่ทำทั้งด้านครีเอทีฟ ออกแบบ และดิจิตอล ที่สามารถ Tailor-made ได้ตามโจทย์ลูกค้า แม้ทีมเราไม่ใหญ่ แต่ทุกคนมีทักษะความรู้ทั้งแนวลึก และแนวกว้าง ทำให้เราไม่ค่อยกลัวเรื่องที่ไม่รู้ และเราจะพยายามหาทางทำจนได้ ยกตัวอย่าง Interactive Design ที่ไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีเดียวหรือภาษาเดียว ทำให้เราก็ต้องสำรวจในทุกๆ ภาษาว่ามีอะไรบ้าง และสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้เหมาะกับงานออกแบบได้”
ความหลงใหลหมกมุ่นกับเรื่องของอุปกรณ์ในเชิงเทคโนโลยี บวกกับความไม่ต้องการแพ้ ได้นำพาขวัญชัยให้ขุดลงลึกในไปเรื่องเทคโนโลยี นอกเหนือจากวิชาความรู้ด้านออกแบบที่ร่ำเรียนมา “เมื่อไหร่ที่เราเจอว่ามันมีทางเลือก (ที่เราคิดว่าดีกว่า) เราเลือกแล้วไปต่อ ทำให้เราไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะไม่อยากแพ้กับเรื่องนี้ และผมไม่อยากวนอยู่ในจุดเดิม ผมเป็นคนขี้เบื่อ อยากลองพยายามทำอะไรที่เราไม่รู้ และลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน” เขายกตัวอย่างตั้งแต่การได้ทำอินสตอลเลชั่นในงานอีเวนต์ครั้งแรก จนถึงการได้ลองทำสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน อย่าง การใช้เทคนิค Digital Fabrication ขึ้นโครงสร้าง (คล้ายวาฟเฟิล) สำหรับงานตกแต่งบูธ จนถึงประยุกต์สู่ชิ้นงาน Alphabloc ที่ผสมผสานแบบอักษรของ Craftsmanship ที่คว้ารางวัล Design Excellence Awards 2017 และ G Mark Award 2017 อย่าง Deltatype และ MartiniThai Neue Slab ให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านสำหรับคนหลงใหลงานฟอนต์
การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ตอบสนองตัวตน และคนใช้งาน
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมใช้คำว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของผมได้เลย ผมเริ่มเบื่อ และมองหาสิ่งที่ทำให้เป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด ด้วยความคลั่งไคล้ฟอนต์ และค้นพบว่าการทำฟอนต์ ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้ สามารถคิดคอนเซ็ปต์ ตั้งชื่อ และสร้างสรรค์มันขึ้นมาได้ตามต้องการ ก่อนส่งออกสู่ผู้ใช้ โดยที่ไม่มีต้องมีใครมาบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ดี อย่างนั้นไม่ดี ถ้าไม่ชอบ ก็แค่ไม่ซื้อ (แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากให้เขาซื้อนะครับ)”
ดังนั้นอีกด้านหนึ่ง Craftsmanship ก็สนุกกับการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่แค่เพื่อตอบสนองตัวเอง แต่นำเสนอสิ่งที่คนต้องการ (แม้ในขณะนั้นผู้ใช้ยังอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการก็ตาม) “การพยายามสร้างสิ่งที่คนน่าจะต้องการ ด้วยทักษะที่มีของเรา เป็นเรื่องที่เราคิดมา 2-3 ปีแล้ว และตอนนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างลงมือทำให้มันสำเร็จ นี่ก็เป็นหนึ่งใน What’s Next ของเรา ยกตัวอย่าง จะทำฟอนต์ไทยอย่างไรให้คนกลุ่มใหญ่ได้ใช้ ในขณะที่ฟอนต์ยังคงความสวยงาม หลากหลาย และเหมาะกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งมันมีความท้าทายอยู่”
การมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ในวงการออกแบบ
“วงการออกแบบในช่วงหลังนี้ก็สนุกมากขึ้น เพราะเห็นคนพยายามจะหาทางใหม่ๆ แม้กระทั่งผมเอง ก็ยังรู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งผมก็เริ่มมองเห็นนักออกแบบในวงการเริ่มมีแรงกระเพื่อมมากขึ้น” ขวัญชัยยกตัวอย่างตัวเขาเองที่ต้องการขยายสเกลงานฟอนต์ไปสู่ตลาดใหญ่ขึ้น ผ่านการทำราคาขายที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ “ผมอยากจะลองพัฒนา Machine ตัวหนึ่งที่จะช่วยขายฟอนต์ให้ โดยที่ผมไม่ต้องไปเสียเวลากับมันมาก ทำให้เกิดการผนวกระหว่างการพัฒนาดีไซน์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ร่วมด้วย ซึ่งผมใช้เวลาพัฒนางานตรงนี้อยู่กว่า 2 ปีให้สำเร็จ ทุกวันนี้มันขายได้แล้ว แต่ว่ามันกลายเป็นว่ามันไม่จบเท่านั้น เพราะว่าเรามองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ได้อีก”
“ผมมองว่าดีไซน์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ในเชิงคอนเซ็ปต์ ในเชิงการสื่อสาร หรือการทำงานให้ลูกค้า แต่ทำให้เราในฐานะผู้ผลิต และนักออกแบบ มองเห็นความเป็นไปได้ของก้าวต่อๆ ไปที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการออกแบบ” ยกตัวอย่างตั้งแต่ความรักในงานตัวอักษรของขวัญชัย ที่นำเขาไปสู่ความหลงใหลในโลกของแฟชั่น อย่างแบรนด์ Balenciaga ที่กลายเป็นแบรนด์คู่คาแรคเตอร์สไตล์ของเขาในตอนนี้ จนถึงความชื่นชมในคัลเจอร์เพลงเกาหลี “ผมว่าคัลเจอร์เกาหลีเจ๋งดี มีความเป็นอเมริกันในแบบเอเชีย ครั้งหนึ่งผมเคยไปคอนเสิร์ตของ G-Dragon แล้วได้เห็นวิดีโอวิชวล ที่ดูเหมือนไม่มีเนื้อหาอะไร หรือมีแต่สไตล์ล้วนๆ แต่จริงๆ แล้ววิธีที่เขาประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันนั้นมันมีเรื่องราว ซึ่งเราสนใจเพราะเราก็เคยทำโมชั่นกราฟิกที่ใช้ในงานคอนเสิร์ตด้วย”
ฟอนต์ Morton คือตัวอย่างผลงานออกแบบตัวอักษรที่พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการฟังเพลง “ช่วงหลังๆ วง The Weeknd ที่ชอบฟังมันเริ่มมีกลิ่นอายซาวด์ 90s กับฟอนต์ยุค 90s ซึ่งเชื่อมโยงกับความชอบของผม ทำให้อยากลองสร้างแบบอักษรที่มันท้าทายเราด้วยความยาก ก็ได้เป็นฟอนต์ชื่อ Morton ซึ่งเป็นฟอนต์ที่คนไทยไม่ใช้เลย แต่ขายดีมากๆ ที่ตลาดเมืองนอก เป็นตัวที่ทำยากเพราะปกติตัวอักษรจะมีแค่เส้นตั้งและเส้นนอนที่ดูเท่าๆ กัน แต่ฟอนต์ Morton แตกต่างออกไป โดยแต่ละเส้นไม่เท่ากัน แต่สามารถสร้างความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นได้ ฟอนต์นี้มีความวินเทจนิดๆ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรี ผมว่ามันมีความเป็นอาร์ตเวิร์คแบบ One of a kind ดีครับ”
เชื่อมโยงมาถึงอีกหนึ่งภารกิจสำคัญต่อไปของ Craftsmanship ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบระเบียบภายในองค์กร “คำว่า จัดระเบียบในที่นี้คือไม่ได้ไปตีกรอบการทำงาน แต่เป็นเรื่องการจัดการกับเอกสารเนี่ยแหละครับ ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจจะใช้โปรแกรมที่ถนัด ไม่ว่าจะเป็น Excel หรือ Word ก็ว่าไปแต่ผมกำลังคิดแพลตฟอร์มตัวหนึ่งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ก็คือในระหว่างที่คนเปิดใช้ Excel ผมอาจจะเปิดมือถือแล้วสามารถคีย์ข้อมูลและประมวลผลจัดเก็บบันทึก และส่งอีเมลได้เลย กล่าวคือใช้วิธีการคิดแบบนักออกแบบมาแก้ปัญหา เพื่อให้ตัวเรามีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น อันนี้คือหนึ่งในตัวอย่างของวิธีคิด ที่เราจะพยายามคิดอย่างนี้กับทุกๆ เรื่องที่มาปะทะ”
“จริงๆ ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ค่อยพอใจกับตัวเองเท่าไรยังมีอีกหลายอย่างที่ทำให้เราไปต่อได้อีก มีข้อจำกัดเดียวที่เราต้องทะลุคือต้องมีวินัยในตัวเอง เมื่อผ่านไปได้ ก็ทำให้สนุกเต็มที่เลยครับตอนนี้”